Saturday 8 February 2014

พระไตรปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑

พระไตรปิฎก เล่ม ๔
มหาวรรค ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ
        [๑] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า แรกตรัสรู้ ประทับอยู่
ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งด้วยบัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุข
ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ตลอด ๗ วัน และทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาทเป็น
อนุโลมและปฏิโลม ตลอดปฐมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้:
(การเกิดขึ้นของทุกข์)
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
(การดับไปแห่งทุกข์)
อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว
จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้น ว่าดังนี้:
พุทธอุทานคาถาที่ ๑
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรม พร้อมทั้งเหตุ
        [๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท
เป็นอนุโลมและปฏิโลมตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้:
ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ
เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ
เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ
เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว
จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้น ว่าดังนี้:
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย.
[๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการปฏิจจสมุปบาท
เป็นอนุโลมและปฏิโลมตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ว่าดังนี้:
ปฏิจจสมุปบาท อนุโลม
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร
เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
(ข้อความเหมือนดังเดิม)
เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมเกิด ด้วยประการฉะนี้.
ปฏิจจสมุปบาท ปฏิโลม
อนึ่ง เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ
(ข้อความเหมือนดังเดิม)
เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงดับ
เป็นอันว่ากองทุกข์ทั้งมวลนั่นย่อมดับ ด้วยประการฉะนี้.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว
จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้น ว่าดังนี้:
พุทธอุทานคาถาที่ ๓
เมื่อใดแล ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น พราหมณ์นั้น
ย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได
ดุจพระอาทิตย์อุทัย ทำอากาศให้สว่าง ฉะนั้น.
 จบ. โพธิกถา
bar01c.gif
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒)
..............อนึ่ง พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพระพจน์นี้ไว้ว่า
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ดังนี้.
ก็อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ใด  อุปาทานขันธ์ ๕
เหล่านี้ ชื่อว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรม แล.
ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี ความชื่นชอบ ในอุปาทานขันธ์ ๕
เหล่านี้อันใด อันนี้ชื่อว่าทุกขสมุทัย.
การกำจัดความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจ
การละความกำหนัด ด้วยสามารถความพอใจ ใน
อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ อันใด อันนั้นชื่อว่าทุกขนิโรธแล.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล
คำสอนของพระผู้มีพระภาค เป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.
ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวธรรมปริยายนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้น
ชื่นชมยินดีภาษิต ของท่านพระสารีบุตรแล้วแล.
bar01c.gif
จาก"พุทธอุทาน"ที่บังเกิดขึ้น ทรงชี้ถึงธรรมหรือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงปีติในญาณหรือการหยั่งรู้ทั้ง ๓ ครั้งดังนี้
        "รู้ธรรม พร้อมทั้งเหตุ" อันคือ รู้ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายล้วนเกิดแต่มีเหตุมาเป็นปัจจัยกัน
        "ได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย" กล่าวคือ เมื่อสิ้นเหตุปัจจัย  ธรรมหรือสิ่งทั้งหลายก็ย่อมดับไป
        "ย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยทำอากาศให้สว่าง" อันคือย่อมกำจัดกิเลส ตัณหา อุปาทานเสียได้
ดุจดั่งพระอาทิตย์ที่ย่อมขับไล่ความมืดมัว อันจักทำให้โลกสว่างไสวและอบอุ่น
หรือพอสรุปกล่าวได้ว่า
ธรรมใดเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับ สิ่งหรือธรรมเหล่านั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา

  
นัตถิ ปัญญาสมา อาภา
แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญาไม่มี

สังคายนา

สังคายนา
       สังคายนา “การสวดพร้อมกัน”, การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว;
       สังคายนา ครั้งที่ ๑ ถึง ๕ มีดังนี้:
       
สังคายนาครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ที่เมื่อทราบข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใหม่ๆได้แสดงความยินดีว่า เมื่อสิ้นพระศาสดาเสียแล้วจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีคนคอยตำหนิ ติเตียน ห้ามปราม,  จึงปรารภที่จะทำให้ธรรมและพระศาสนารุ่งเรืองอยู่สืบต่อไป พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน
           โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๒ ปรารภพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ นอกธรรม นอกวินัย กล่าวคือ ภิกษุพวกหนึ่งชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ละเมิดธรรมวินัย อันเป็นต้นเหตุแห่งการสังคายนาครั้งที่ ๒ โดยไปจัดของนอกธรรมนอกวินัยว่า เป็นของดี ว่าถูกต้อง อันเป็นไปในทางเพื่อลาภ เพื่อความสะดวกสบาย ฯ.  อันทำให้พระศาสนาเสื่อม มัวหมอง, พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อ พ.ศ ๑๐๐
           โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์มากมายปลอมบวชในพระศาสนาเพราะมีลาภสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการามเมืองปาฏลีบุตร เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ (พ.ศ. ๒๑๘ เป็นปีที่พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชย์) และมีศิลาจารึกที่ปรากฏเป็นหลักฐานบางส่วนอยู่จนถึงปัจจุบัน
           โดยพระเจ้าอโศก หรือ ศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๔ ปรารภจะให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖
           โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ
       
สังคายนาครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ประชุมกันสวดซ้อมแล้วจารพุทธพจน์ลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๔๕๐ (ว่า ๔๓๖ ก็มี)
           โดยพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัยเป็นศาสนูปถัมก์;
           บางคัมภีร์ว่า สังคายนาครั้งนี้จัดขึ้นในความคุ้มครองของคนที่เป็นใหญ่ในท้องถิ่น
       (ครั้งที่ ๔ ได้รับความยอมรับในแง่เหตุการณ์น้อยกว่าครั้งที่ ๕)

       ประเทศไทย ยอมรับการสังคายนาตามลำดับ ตามที่บันทึกไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ รจนาเป็นภาษาบาลี โดยสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ (รจนาเมื่อครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม) ในรัชกาลที่ ๑ ได้จัดลำดับสังคายนาไว้ คือ
       สังคายนาครั้งที่  ๑-๒-๓  ทำในประเทศอินเดีย,
       สังคายนาครั้งที่  ๔-๕  ทำในประเทศลังกา ดังกล่าวแล้วข้างต้น  
       แล้วยังมีการสังคายนาที่ยอมรับกันในประเทศไทยต่อมาอีกดังนี้

       สังคายนาครั้งที่  ๖ ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆสาจารย์(พระพุทธโฆษาจารย์ ก็เขียนกัน) ชาวอินเดีย ได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยพระเจ้ามหานาม การสังคายนาครั้งนี้มิได้ชำระพระไตรปิฎก หากแต่ชำระอรรถกถา  แต่ทางลังกาเองไม่นับเป็นการสังคายนา        สังคายนาครั้งที่  ๗ ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗  พระกัสสปเถระ เป็นประธาน ได้รจนาและชำระคัมภีร์ฎีกาต่างๆ ร่วมกับภิกษุผู้เชี่ยวชาญพุทธธรรมกว่า ๑,๐๐๐ รูป ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎก เป็นภาษาบาลี กล่าวคือแต่งตำราอธิบายคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งพระพุทธโฆสะได้ทำเป็นภาษาบาลีไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๖ คำอธิบายอรรถกถานี้ว่าตามสำนวนนักศึกษาก็คือ คัมภีร์ฎีกา ตัวพระไตรปิฎก เรียกว่าบาลี คำอธิบายพระไตรปิฎก เรียกว่า อรรถกถา คำอธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา, การทำสังคายนาครั้งนี้ เนื่องจากมิใช่สังคายนาพระไตรปิฎก  ทางลังกาเองก็ไม่รับรองว่าเป็นสังคายนา
        หลังจากนั้น ก็มีการสังคายนาเกิดขึ้นในประเทศไทยอีก ๒ ครั้ง
        สังคายนาครั้งที่  ๘ ทำในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก ในวัดโพธาราม เป็นเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จสังคายนา ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย
        
สังคายนาครั้งที่  ๙ ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก ในครั้งนี้มีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎก แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน  สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน ๕ เดือน จัดว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย
        อย่างไรก็ตาม ข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์ ก็นับว่าได้ประโยชน์ในการรู้ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา อย่างดียิ่ง ประวัติการสังคายนา ๙ ครั้งตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระวันรัตรจนาไว้นี้  ภิกษุชินานันทะ ศาสตราจารย์ภาษาบาลีและพุทธศาสตร์ แห่งสถาบันภาษาบาลีที่นาลันทาในประเทศอิเดียได้นำไปเล่าไว้เป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ ๒๕๐๐ ปี แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งพิมพ์ขึ้นในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในอินเดียด้วย
        การนับจำนวนการสังคายนาในแต่ละประเทศ มีความแตกต่างและการยอมรับต่างกันไป ในแต่ละประเทศ.